Image

Hypertension: เกร็ดความรู้คู่สุขภาพ "ความดันโลหิตสูง"

Publish date : 27 May 2021

ความดันโลหิตสูงคืออะไร

 ความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือ มีค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือ มีค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท (โดยวัดหลังจากนั่งพักให้ผ่อนคลาย 5 นาที และวัดซ้ำในอีก 2-3 วันต่อมา)


 สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต จะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็ม รสหวาน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่ม-แอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ และ มีภาวะเครียด ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิตสูง เช่น กรรมพันธุ์ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น


อาการแสดงของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

 ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน จึงไม่รู้ว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง อาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ หากปล่อยไว้นานจนมีระดับความดันโลหิตสูงมาก มีอาการ เช่น ปวดศีรษะเฉียบพลัน ปวดมึนท้ายทอยตอนเช้า มีคลื่นไล้อาเจียน ตามัวร่วมกับ อ่อนเพลีย ใจสั่น แขนขาซีกหนึ่งซีกใดอ่อนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น และอาจทำให้ทุพพลภาพหรือส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้




การปฏิบัติตัวเมื่อมีความดันโลหิตสูง

1.ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากมีน้ำหนักเกินให้รีบลดน้ำหนัก ให้มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI อยู่ที่ 18.5-22.9 กก./ตร.ม. และมีเส้นรอบพุงในท่ายืนน้อยกว่า 90 ซม. (36 นิ้ว) ในผู้ชายไทย หรือน้อยกว่า 80 ซม. (32 นิ้ว) ในผู้หญิงไทย หรือไม่เกินส่วนสูงหารสอง ทั้งเพศชายและหญิง

2.หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หรือเลือกอาหารที่มีเกลือต่ำ หรือจำกัดโซเดียมในอาหาร ให้น้อยกว่า 2,300 มก./วัน (เทียบเท่าเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชา)

3.ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ควรจำกัดปริมาณให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม คือ ผู้ชายไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน และ ผู้หญิงไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน

4.งดสูบบุหรี่ ไม่ได้มีผลต่อการลดความดันโดยตรง แต่เป็นวิธีการที่ได้ผลดีในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

5.จัดการเรื่องความเครียด

6.หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น

7.ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ เช่น เดินเล่น เล่นกีฬา และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อไม่ให้หัวใจทำงานหนัก



ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สามารถนำ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) มาเป็นแนวทางการบริโภคอาหารเพื่อหยุดความดันโลหิตสูง หลักการสำคัญ คือ ให้ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานใยอาหาร โปรตีน แคลเซียมและแร่ธาตุต่างๆ เช่น โพแทสเซียมและแมกนีเซียม รวมถึงปริมาณสารไนเตรทที่มีผลการศึกษาถึงการลดความดันโลหิตสูงได้

สัดส่วนอาหารอาหารตามหลัก DASH Diet พลังงานไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ที่แนะนำ ดังนี้

ข้าว แป้งและธัญพืชต่างๆที่ไม่ขัดสี 6-8 ส่วนบริโภคต่อวัน(หรือประมาณ 6-8 ทัพพีต่อวัน) เพื่อเพิ่มการรับประทานใยอาหารที่ช่วยการขับถ่ายและลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผักหลากหลายชนิด อย่างน้อย 5 สี 4-5 ส่วนบริโภคต่อวัน(หรือประมาณ 4-5 ทัพพีต่อวัน)

ผลไม้ 4-5 ส่วนบริโภคต่อวัน( 1 ส่วนของผลไม้มีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งตามขนาด ดังนี้ ผลไม้ลูกเท่ากำปั้น 1 ลูก คือ 1 ส่วน ได้แก่ ส้ม แอปเปิ้ล สาลี่ , ผลไม้ที่เป็นชิ้นคำ 6-8 ชิ้นคำ คือ 1 ส่วน ได้แก่ สับปะรด แคนตาลูป แตงโม เป็นต้น) ควรหลีกเลี่ยงผักและผลไม้กระป๋องหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ

เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 6 ส่วนบริโภคต่อวัน(หรือประมาณ 12 ช้อนกินข้าวต่อวัน) เลือกเนื้อสัตว์สีขาว เลี่ยงเนื้อสัตว์สีแดงและเนื้อแปรรูปต่างๆ

ถั่วเมล็ดแห้งชนิดต่างๆ 4-5 ส่วนบริโภคต่อสัปดาห์ (หรือประมาณ 4-5 กำมือต่อสัปดาห์)

นมและผลิตภัณฑ์จากนม เลือกชนิดที่ไขมันต่ำ 2-3 ส่วนบริโภคต่อวัน (2-3 แก้วต่อวัน)

อาหารหวานชนิดต่างๆ ไม่เกิน 5 ส่วนบริโภคต่อสัปดาห์ (หรือน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน) แนะนำให้รับประทานนานๆครั้ง และสามารถใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในการปรุงประกอบอาหารได้บ้าง

น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเลือกรับประทานอาหารเมนูไขมันต่ำ

แนะนำให้ใช้รสเปรี้ยว เครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ ในการเสริมรสชาติอาหารให้เด่นขึ้นแทนการใช้เกลือหรือเครื่องปรุงที่มีเกลือโซเดียมสูง